วันเสาร์ที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2563

ธรรมะออนไลน์ ตอน ธรรมะกับงาน "ทำงานคือการปฎิบัติธรรม"

ธรรมะ กับ งาน – “ทำงานคือการปฏิบัติธรรม

สืบเนื่องมาจากการที่ข้าพเจ้าเคยคิดว่า"เมื่อเราทำงานหนักทำให้เราไม่มีเวลาปฎิบัติธรรม" เพราะข้าพเจ้าชื่นชอบการปฎิบัติธรรมมาก เมื่อใดที่ออกห่างจากการปฏิบัติธรรม ดูเหมือนความทุกข์ที่คืบคลานเข้ามาเป็นเรื่องใหญ่ไปเสียหมดทุกเรื่อง ในขณะที่เราปฎิบัติธรรม แล้วเราได้รับความทุกข์ในเรื่องเดียวกัน แต่เรากลับมองปัญหาเหล่านั้นเป็นเรื่องเล็กน้อย หรือเป็นแค่เรื่องธรรมดา (เรื่องธรรมชาติเท่านั้นเอง)

จนกระทั่งวันหนึ่ง ข้าพเจ้าได้ไปศึกษาธรรมกับหลวงพ่อจรัญ ฐิตธมฺโม แห่งวัดอัมพวัน จ.สิงห์บุรี หลวงพ่อได้สอนเรื่องสติปัฏฐาน 4 จึงทำให้รู้ว่า การปฎิบัติธรรม ทำได้ทุกที่ ไม้เว้นแม้กระทั่งเวลาที่ทำงานอยู่ก็สามารถปฎิบัติธรรมได้ตลอด ดังคำกล่าวของหลวงพ่อพุทธทาส ที่ว่า ธรรมะคือการปฏิบัติงาน

ชีวิตของ มนุษย์เราส่วนใหญ่อยู่กับการทำงาน  ถ้าเราคิดว่าจะเอาเวลาว่างมาปฏิบัติธรรมวันละ 1-2 ชั่วโมง  หรือช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ค่อยปฏิบัติธรรมแล้ว  ยังน้อยไป
ชีวิตของ มนุษย์นั้นน้อยนักเปรียบได้ดั่งน้ำค้างบนยอดหญ้ายามเช้า....เมื่อถูกแสงแดด ย่อมระเหยแห้งไป......ดังนั้นจึงไม่ควรดำรงชีวิตอยู่อย่างประมาท

การปฎิบัติงานคือการปฎิบัติธรรมนั้นเป็นอย่างไร ?
1. เมื่อทำงานอะไรอยู่ให้มีสติอยู่กับงานที่ทำเสมอ  เมื่อสติตั้งมั่นดีแล้ว  ย่อมเกิดสมาธิในการทำงาน  งานมักไม่ผิดพลาด  เมื่อสมาธิตั้งมั่นดีแล้ว  ย่อมเกิดปัญญา  งานที่ทำก็เจริญก้าวหน้าอยู่เสมอ

2.
เมื่อประสบปัญหา โลกธรรมแปด  เราต้องใช้ มรรคแปด  เป็นหนทางแก้ไข เมื่ออยู่ในโลก  ในสังคม ย่อมหลีกเลี่ยง โลกธรรมแปด ไม่ได้  อย่าไปยึดมั่นถือมั่น พระ พุทธเจ้าของเราสอนให้อยู่กับปัจจุบัน  ทำปัจจุบันให้ดีที่สุด  บุคคลที่นึกถึงอดีตที่ผ่านมา  หรืออนาคตที่ยังมาไม่ถึง  ย่อมหาความสุขไม่ได้เลย

3.
อาศัยธรรมะแห่งการอยู่ร่วมกัน คือ พรหมวิหารสี่ คือธรรมเครื่องอยู่อย่างประเสริฐ, ธรรมประจำใจอันประเสริฐ, หลักความประพฤติที่ประเสริฐบริสุทธิ์, ธรรมที่ต้องมีไว้เป็นหลักใจและกำกับความประพฤติ จึงจะชื่อว่าดำเนินชีวิตหมดจด และปฏิบัติตนต่อมนุษย์สัตว์ทั้งหลายโดยชอบ
แม้ตอนที่เรากำลังทำภาระกิจดังในภาพนี้ หลวงพ่อจรัญ  ฐิตธมฺโม ยังสอนให้เรากำหนดรู้เลย
ดังนั้น จึงกล่าวได้ว่าทำงานคือการปฏิบัติธรรมหรือธรรมะคือการปฏิบัติงาน เมื่อก่อนข้าพเจ้าก็คิดเหมือนกับหลายคน ที่ว่า พอเริ่มทำงาน ก็รู้สึกว่าการเข้าหาธรรมะน้อยลง ห่างเหินหนังสือธรรมะมากขึ้น ในแต่ละวันพอกลับจากที่ทำงานก็อยากจะนอนพักผ่อน และในขณะที่อยู่ในช่วงทำงาน บางครั้งก็ถูกบังคับจากรอบด้านให้โกหกเพื่อผลประโยชน์ของบริษัท

มีการนินทากันลับหลังในที่ทำงาน โดนตำหนิ ต่อว่า จากบุคคลอื่น รู้สึกไม่สบายใจเลย โดยเฉพาะในเวลาที่มีคนต่อว่าเรามักจะเก็บมาคิดน้อยใจ คิดว่าเรามันไม่เอาไหน ทำให้ยิ่งเครียดเข้าไปใหญ่ และไม่เคยคิดด้วยว่าจะมีงานอะไร ที่ทำให้เราเห็นคุณค่าในตัวเราเอง
กระทั่งวันนี้ข้าพเจ้าได้เข้ามาทำงาน ณ ที่แห่งหนึ่ง ซึ่งเป็นงานที่ได้ช่วยเหลือตนเอง และเพื่อมนุษย์ด้วยกันอย่างแท้จริง เราอยู่กันอย่างพี่กับน้อง จึงทำงานได้อย่างมีความสุข 
สรุป คนทำงานจำนวนมากเห็นธรรมะเป็นเรื่องน่าเบื่อ เห็นผู้ปฏิบัติธรรมเป็นคนคร่ำครึไม่ทันสมัย แยกธรรมะกับงานออกจากกันโดยสิ้นเชิง โดยหารู้ไม่ว่าแท้จริงแล้วทั้งสองอย่างเป็นเรื่องเดียวกัน เมื่อทำงานจึงเท่ากับปฏิบัติธรรมไปด้วย ทำให้กล่าวได้ว่า ทำงานคือการปฏิบัติธรรม
เพราะการปฎิบัติตามแนว สติ ปัฏฐาน 4 (อย่างไรล่ะ?) ก็แนวสติปัฏฐาน 4 คือการมีสติสัมปชัญญะตั้งอยู่ที่ฐานทั้ง 4 ทั้งการยืนเดินนั่งนอน คิด นึก สุข ทุกข์ ไม่สุข ไม่ทุกข์ การมีสติระลึกรู้อยู่ กับปัจจุบันตลอดเวลา เราก็จะรู้ว่าเรากำลังรู้สึกนึกคิดอะไรอยู่ ทุกขณะ เราก็จะดับมันได้ทันเวลา ไม่ว่าสุข หรือ ทุกข์นั่นเอง ลองนำไปปฏิบัติกันดูได้นะค่ะ

ขับเคลื่อนโดย Blogger.